วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

แมงกะพรุนน้ำจืด

แมงกะพรุนน้ำจืด (Freshwater jellyfish) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังสกุลหนึ่ง จัดอยู่ในพวกแมงกะพรุนที่อยู่ในชั้นไฮโดรซัว ต่างจากแมงกะพรุนที่พบในทะเลที่ส่วนมากจะอยู่ในชั้นไซโฟซัว ใช้ชื่อสกุลว่า Craspedacusta

มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับแมงกะพรุนที่พบในทะเล มีลักษณะโปร่งแสง ใส สีขาว มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำตัวเพียง 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น เมื่อจับขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว จะมองเผิน ๆ เหมือนคอนแทคเลนส์ จัดเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็กมาก บริเวณขอบร่างกายมีหนวดเล็ก ๆ ซึ่งมีผิวเป็นปุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นเข็มพิษ จำนวนมาก ที่เมื่อจับต้องถูกตัวจะให้เกิดอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนได้ บริเวณกลางลำตัวมีปากที่ยื่นยาวคล้ายแตรที่ขยายออกบริเวณช่องเปิดด้านล่าง

บริเวณขอบลักษณะเป็นรอยหยัก 3 แฉก ปากดังกล่าวจะเชื่อต่อถึงกระเพาะอาหารโดยตรง บริเวณด้านในของร่างกายที่มีลักษณะคล้ายร่ม มีเนื้อเยื่อบาง ๆ ทอดผ่านไปบริเวณขอบในแนวรัศมี 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยแนวเหล่านี้จะมีอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ที่มีลักษณะสีขาวขุ่นหรือสีส้มพาดไปในแนวรัศมีเช่นกัน บริเวณขอบด้านในของร่างกายที่มีลักษณะคล้ายร่ม มีกล้ามเนื้อบาง ๆ เรียงตัวในแนววงแหวนโดยรอบ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้แมงกะพรุนน้ำจืดอยู่จัดอยู่ชั้นไฮโดรซัว

มีวงจรชีวิตแบบสลับ โดยเวลาส่วนใหญ่ในรอบปีจะดำรงชีวิตแบบยึดเกาะกับวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ เช่น ขอนไม้ มีลักษณะคล้ายไฮดรา แต่มีหนวดสั้นไม่เกินสองเส้น และมีการแตกแขนงเป็นกลุ่ม การเพิ่มจำนวนใช้วิธีการแบบแตกหน่อ จัดเป็นการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ มักขยายพันธุ์ในช่วงฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำในแหล่งอาศัยลดลง แมงกะพรุนวัยอ่อนจะเคลื่อนที่ไปมาในน้ำอย่างอิสระ โดยปรกติจะอยู่บริเวณพื้นน้ำโดยหงายส่วนปากขึ้นด้านบนและแผ่นหนวดขึ้นรอบตัวคล้ายดอกไม้ทะเล ใช้หนวดดังกล่าวจับอาหารกิน ได้แก่ ไรน้ำ เป็นต้น เมื่ออายุได้ 1-2 เดือน จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และผลิตเซลล์สืบพันธุ์เพื่อปฏิสนธิ โดยในช่วงนี้จะเข้าสู่วงจรชีวิตการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ

สะพานอะกะชิไคเคียว' สะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก

สะพานอะกะชิไคเคียว (Akashi-Kaikyō Bridge) เป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก โดยมีความยาวทั้งสิ้น 3,991 เมตร ความยาวช่วงกลางสะพาน 1,991 เมตร ตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1998 สะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักระหว่างเมืองโกเบบนเกาะฮนชู กับเมืองอิวะยะบนเกาะอะวะจิ ข้ามช่องแคบอะกะชิอันพลุกพล่าน สะพานเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายฮนชู – ชิโกะกุ
ก่อนที่จะมีการสร้างสะพานอะกะชิไคเคียวขึ้น การเดินทางข้ามช่องแคบอะกะชิต้องใช้บริการเรือข้ามฟาก ซึ่งมีความอันตรายสูงมาก เนื่องจากช่องแคบอะกะชิเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่หนาแน่นแห่งหนึ่ง อีกทั้งภัยธรรมชาติรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ

กระทั่ง ในปี ค.ศ. 1955 ได้เกิดเหตุการณ์เรือข้ามฟากสองลำเกิดอับปางลงกลางทะเล ทำให้มีผู้เสียชีวิตซึ่งส่วนมากเป็นเยาวชนจำนวน 168 ราย อันเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นริเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานแขวนขึ้นในบริเวณดังกล่าว

ซึ่งแผนการเดิมนั้นสร้างเป็นสะพานสำหรับรถยนต์และทางรถไฟ แต่เมื่อมีการลงมือก่อสร้างสะพานขึ้นในปี ค.ศ. 1986 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบให้เป็นสะพานสำหรับรถยนต์เพียงอย่างเดียว ประกอบด้วยถนน 6 เลน การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1986 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1998

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ยอดเขามงบล็อง

ยอดเขามงบล็อง (Mont Blanc) หรือ มอนเตเบียนโก (Monte Bianco) ตั้งอยู่บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศอิตาลี เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาแอลป์ มีความสูง 4,807 เมตร ทั้ง “มงบล็อง” และ “มอนเตเบียนโก” ต่างมีความหมายว่า “ภูเขาสีขาว”

สภาพทั่วไปของยอดเขามีร่องรอยการกัดเซาะของธารน้ำแข็ง ยอดเขามงบล็องมีรูปร่างยอดขรุขระ เพราะเกิดจากการโกงตัวของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นคือ แผ่นเปลือกโลกแอฟริกากับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย แต่หินบริเวณที่โก่งตัวกลับเป็นหินทรายกับหินปูน

ยอดเขาสูงบริเวณเทือกเขาแอลป์จึงสึกกร่อนได้ง่าย จึงเป็นสาเหตุให้ยอดเขามงบล็องก็มียอดแหลมขรุขระ เพราะโดนสภาพอากาศและธารน้ำแข็งกัดกร่อนมาเป็นเวลานานหลายล้านปี

สภาพภูมิอากาศของยอดเขามงบล็องเป็นแบบเมติเตอร์เรเนียน บนยอดมีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของอิตาลีและฝรั่งเศส

วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

6 รูปแบบการสอบสุดโหด!!

1. ข้อสอบเขียน
           สอบข้อเขียนในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น เป็นข้อสอบ "เขียน" จริงๆ ไม่ใช่การเติมคำ ไม่ใช่จับคู่ ไม่ใช่เขียนเพื่อให้การสอบฟังดูสวยหรู แต่น้องๆ จะได้เขียนร่ายยาวกันเป็นหน้ากระดาษ A4 กับโจทย์ 1 ข้อ โดยเฉพาะคณะทางสายศิลป์ อย่างคณะอักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์ โดนแน่นอนค่ะ อย่างเช่น โจทย์ถามว่าทำไมเราต้องแปรงฟัน โจทย์ก็จะมาแค่นี้ แต่พื้นที่ให้ตอบ มีตั้งแต่ระบุบรรทัด ไปจนถึงให้กระดาษมา 5 แผ่นแม็กติดมากับกระดาษคำถาม ส่วนคำตอบของเราจะเขียนอะไรก็เชิญเขียนตามอัธยาศัย (แต่ต้องเขียนให้ตอบโจทย์ที่ถามมาด้วยนะ)

          การเตรียมตัวสอบข้อเขียน คงขึ้นอยู่กับความรู้ที่ มี เรียกว่าต้องประมวลทุกอย่างในหัวออกมาเขียน ซึ่งจะต้องปรับตัวจากตอนเรียนมัธยมมากๆ เลย อย่างแรกคือ ต้องเรียนด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ท่องจำ หากใช้วิธีท่อง เกิดสะดุดตอไม้สติหลุดเขียนคำตอบไม่ได้แน่ๆ ค่ะ อีกอย่างถ้าคำถามมาไม่ตรงกับที่เราท่องจำก็ทำไม่ได้อีก แต่ถ้าเราเรียนแบบเข้าใจก็จะสามารถเรียบเรียงคำตอบได้อย่างเป็นระบบ :D

 
   2. ข้อสอบหลายช้อยส์
           ข้อสอบแบบหลายช้อยส์ที่น้องๆ เคยเจออาจจะสูงสุดแค่ 5 ตัวเลือกใช่มั้ยคะ แต่ระดับมหาวิทยาลัยแอดวานซ์กว่านั้นหลายขุมนัก โดยคำถามชุดนึงอาจจะมีช้อยส์ถึง 20 ตัวเลือก แต่ใช้ร่วมกับคำถามหลายๆ ข้อ คล้ายๆ กับข้อสอบเติมคำภาษาอังกฤษที่จะมีแผงคำตอบอยู่ด้านบน แล้วให้เลือกลงช่องว่างให้ถูกต้อง สำหรับข้อสอบแบบนี้ ต้องยกนิ้วเรื่องความยากเลยค่ะ เพราะผิดแล้วผิดเลย จะมานั่งแถน้ำท่วมทุ่มไม่ได้เหมือนข้อสอบเขียน
 
    3. Open Book
        ไม่แน่ใจว่ามีโรงเรียนไหนเคยสอบวิธีบ้างหรือเปล่า การสอบแบบ open book นี่เหมือนจะดีนะคะ เพราะเราสามารถเอาหนังสือหรือสมุด หรือสรุปชีทต่างๆ เข้าห้องสอบได้ด้วย ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนจับทุจริต แต่มันโหดเหี้ยมกว่านั้น การันตีมาจากพี่ๆ หลายคนว่า ถึงเอาหนังสือหรือสมุดเข้าไปได้ก็จริง แต่ก็แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะข้อสอบก็จะยากกว่าเดิม เปิดหนังสือเท่าไหร่ก็หาไม่เจอคำตอบ เผลอๆ เสียเวลาเปิดหนังสือไปฟรีๆ จนบางทีอาจารย์เสนอให้สอบแบบ Open book แต่คนสอบขอสอบแบบเดิมจะดีกว่า ฮ่าๆ
 
   4. สอบปากเปล่า
         เจอข้อสอบที่ระทึกที่สุดไปแล้ว แนะนำให้เจอการสอบที่กดดันอีกรูปแบบนึงแล้วกัน
         การสอบปากเปล่า หรือ Oral Exam คือ การตอบคำถามต่อหน้าอาจารย์ด้วยปากเปล่า เปิดหนังสือไม่ได้แน่นอนค่ะ โดยเราจะต้องเตรียมตัวมาให้พร้อมตั้งแต่ที่บ้าน อ่านหนังสือมาให้เยอะๆ ซ้อมถาม ซ้อมตอบเอาเอง ซึ่งการสอบแบบนี้จะไม่ได้วัดวิชาการเพียงอย่างเดียวนะคะ แต่จะวัดเรื่องความคิดเห็นด้วย อาจารย์จะยิงคำถาม "อะไร" "ทำไม" "เพราะอะไร" คล้ายๆ กับการสอบสัมภาษณ์ ให้เราแสดงความคิดเห็น พี่มิ้นท์เคยโดนสอบด้วยวิธีนี้ด้วยค่ะ ตื่นเต้นสุดๆ เลย เพราะอาจารย์จะมองหน้าเราตลอดการสอบปากเปล่า ส่วนตัวเราเองก็ต้องตื่นเต้นว่าอาจารย์จะถามอะไรต่อไป เราจะตอบได้มั้ย แค่ย้อนกลับไปคิดก็เหนื่อยแล้วค่ะ

    5. แล็บกริ๊ง
         การสอบสุดฮิตของเด็กสายวิทย์ในระดับมหาวิทยาลัยคือ แล็บกริ๊ง ฟังชื่อนี้แล้วจำให้แม่นๆ เลย
         "แล็บกริ๊ง" เป็นรูปแบบการสอบที่จะแบ่งข้อสอบออกเป็นโต๊ะๆ หรือเรียกว่า สถานี  สถานีละ 1 ข้อ มีเวลาทำข้อละประมาณ 1 นาที หลังจากนั้นจะมีสัญญาณดังกริ๊งขึ้นมา ทุกคนจะต้องขยับไปสถานีต่อไปทันที ดังนั้นเท่ากับว่า น้องๆ จะมีเวลาทำ คิด ขีด เขียนข้อสอบแค่ข้อละ 1 นาที จะทำอะไรต้องรีบๆ ทำค่ะไม่อย่างนั้นพอไปเจอโจทย์ข้อใหม่ก็ต้องคิดโจทย์ข้อใหม่ทันที 


    6. ประยุกต์เอาความรู้มาใช้จริง
          เป็นรูปแบบการสอบที่ค่อนข้างพิสูจน์ความสามารถคนเรียนจริงๆ อย่างที่รู้ๆ กันว่าในมหาวิทยาลัยมีหลายวิชาที่เป็นวิชาเชิงปฏิบัติ จะสอบทีก็เลยต้องลงมือทำจริงๆ ซะเลย อย่างเช่น วิชาการตลาด พี่มิ้นท์ได้สืบเสาะถามจากปากคนที่เคยเรียนการตลาดได้ความมาว่า มีโปรเจคต้องทำสินค้าขึ้นมาจริงๆ (แต่ละที่อาจไม่เหมือนกันนะคะ) เช่น ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งโลโก้ รูปแบบ ผลิตภัณฑ์ แล้วส่งสินค้าตัวนั้นๆ ให้อาจารย์ไปตรวจ หรือ มีโปรเจคที่ต้องจัดกิจกรรม ให้เราติดต่อสปอนเซอร์ให้ได้ ถ้าติดต่อได้ตามเกณฑ์ก็ถือว่าผ่าน เป็นต้น เรียกว่าอาจารย์ให้ความรู้กับคนเรียน แต่คนเรียนนี่แหละที่ต้องเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลขึ้นมาจริงๆ ทำได้ก็คือได้ ทำไม่ได้ก็คือ จบ! สอบตกไปตามระเบียบ T^T

ที่มา : http://www.dek-d.com/education/33976/

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

พระบฏ คืออะไร?





        พระบฏ คือผืนผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธประวัติหรือชาดก คำว่า "บฏ" มีรากศัพท์ในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ - ตะ) หมายถึง ผ้าทอ ผืนผ้า
        การประดับอาคารศาสนสถานด้วยผ้าเขียนภาพต่างๆ นั้น เป็นคตินิยมเนื่องในพุทธศาสนามหายานจากประเทศอินเดีย และได้ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ เช่นจีนและญี่ปุ่น ดังพบหลักฐานการเขียนภาพบนผืนผ้าและนำไปประดับตามศาสนสถานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ (สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง) ส่วนใหญ่เป็นภาพพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี หรือพระโพธิสัตว์ แวดล้อมด้วยพระสาวก (มาลินี คัมภีรญาณนนท์ ๒๕๓๒)
        ในจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑๐๖ (จารึกวัดช้างล้อม) กล่าวถึงพนมไสดำ ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ ไว้เป็นอันมาก และในปีพุทธศักราช ๑๘๒๗ "...จึงมาตั้งกระทำหอพระปีฎกธรรมสังวร ใจบูชาพระอภิธรรมกับด้วยพระบดจีนมาไว้ ได้ปลูกทั้งพระศรีม(หาโ)พธิ อันเป็นจอมบุญจอมศรียอ...พระบดอันหนึ่ง ด้วยสูงได้ ๑๔ ศอกกระทำให้บุญไปแก่สมเด็จมหาธรรมราชา กระทำพระหินอันหนึ่ง ให้บุญไปแก่มหาเทวี..." (สำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๑๓) 


        ดังนั้น คติการสร้างพระบฏในสมัยสุโขทัย จึงนิยมทำขึ้นเพื่อการอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
        ในจารึกหลักเดียวกันนี้ยังกล่าวถึง "พระบฏจีน" ซึ่งอาจจะเป็นพระบฏที่เขียนขึ้นเนื่องในคติมหายานตามความนิยมของจีน หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจหมายความว่าการเขียนภาพบนผ้านั้น ทำตามแบบอย่างของจีน จึงเรียกว่าพระบฏจีน
        ในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช วรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยา (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓) ก็ได้กล่าวถึงพระบฏไว้หลายตอนด้วยกัน เช่น
        "...ครั้งนั้น ยังมีผขาวอริยพงษ์ อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลงกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นที่ปากพนัง พระบตขึ้นที่ปากพนัง ชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอนทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากน้ำ พระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบต ผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาวๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดี..." (กรมศิลปากร ๒๕๑๗)
        พระบฏที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ได้มาการขุดกรุพระเจดีย์ วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยกรมศิลปากร ในโครงการสำรวจทางโบราณคดีเหนือเขื่อนภูมิพล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบฎผืนนี้มีขนาดใหญ่มาก คือกว้าง ๑.๘ เมตร และยาวถึง ๓.๔ เมตร เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ แวดล้อมด้วยเหล่าทวยเทพ สภาพเมื่อแรกพบนั้นชำรุด มีรอยขาดผ่ากลาง ซึ่งเป็นลักษณะการชำรุดก่อนที่จะนำไปบรรจุไว้ในหม้อดิน จึงสันนิษฐานว่าพระบฏนี้มีอายุเก่ากว่าพระเจดีย์ หรือมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒
        ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัตถุประสงค์การสร้างพระบฏยิ่งหลากหลายออกไป กล่าวคือมีทั้งที่ทำขึ้นเพื่อสืบทอดพระศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ และเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว เมื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย จึงทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพระบฏไปด้วย ทั้งในด้านเรื่องราว วัสดุ และขนาด 



เทคนิคการเขียนพระบฏ


        พระบฏคืองานจิตรกรรมไทยประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงมีวิวัฒนาการทางด้านรูปแบบคือการเขียนเรื่องราว การจัดวางองค์ประกอบ และเทคนิควิธีการเขียนเช่นเดียวกับจิตรกรรมไทยประเพณีในรูปแบบ ซึ่งประกอบด้วยสองขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ และขั้นการเขียน
        ขั้นเตรียมการ หมายถึง การเตรียมผ้า เตรียมสี และเตรียมกาว ผ้าที่นิยมใช้ทำพระบฏ คือ ผ้าฝ้ายสีขาว ทารองพื้นด้วยดินสอพองผสมกับกาวเม็ดมะขามหรือกาวหนังสัตว์ ที่แตกต่างไปจากการเขียนลงบนพื้นวัสดุอื่นๆ ก็คือในการเขียนพระบฏนั้น ชั้นรองพื้นและชั้นสี ต้องทาเพียงบาง ๆ เพื่อให้สามารถม้วนเก็บได้และสีจะไม่แตกหักหรือกะเทาะง่าย
        สีฝุ่นที่ใช้เขียนเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ คือ ดิน แร่ หิน โลหะ นำไปบดหรือเผาไฟให้สุก ตากแห้งแล้วบดให้ละเอียด มีบางชนิดที่ได้จากส่วนต่างๆ ของพืชและสัตว์ นำไปต้มหรือตำ คั้นเอาน้ำมากรอง เกรอะให้แห้ง จากนั้นจึงนำไปบดเป็นผงละเอียด สีฝุ่นที่ใช้ในสมัยโบราณมีสีดำ สีขาว สีแดง และสีเหลือง ในสมัยอยุธยาตอนปลายมีสีเพิ่มขึ้นและมีสีสดมากขึ้น เช่น สีเหลืองสด สีเขียวสด สีแดงชาด ฯลฯ อันเป็นสีที่สั่งเข้ามาจากจีน ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในยุคต้น ๆ นั้น มีสีฝุ่นมากมายหลายชนิดด้วยกัน (วรรณิภา ณ สงขลา ๒๕๓๓)
        เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ สีฝุ่นอย่างโบราณเริ่มหายาก และช่างเขียนหันไปนิยมใช้สีสมัยใหม่กันมากขึ้นด้วย ดังที่ปรากฏในหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวถึงสีสมัยใหม่ ที่พระองค์ท่านเรียกว่า "สีสวรรค์" หรือ "สีสวรรย์" ในระยะนี้ว่า 


        "...อนึ่งข้าพระพุทธเจ้ามีความวิตกด้วยสีน้ำยา เพราะเหตุว่าที่มีขายในท้องตลาดทุกวันนี้ มีแต่สีปลอมคือเอาดินเหลืองมาย้อมสีสวรรย์ขาย เมื่อลลายจะใช้การ สีสวรรย์ลอยอยู่บนน้ำ ดินเหลืองนอนอยู่ก้น เมื่อจะทาต้องกวนอยู่ไม่หยุดได้ แลเมื่อเขียนแล้ว ล่วงเดือนหนึ่ง ไม่ใคร่มีอะไรติดอยู่ ความวิตกอันนี้เกิดขึ้นแก่การที่จะเขียนพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เกรงด้วยเกล้าฯ ว่าจะไม่มีน้ำยาใช้ ให้ของอยู่ทนนานสมพระราชประสงค์ จึงได้คิดจะหาสีมาจากเมืองจีน จึ่งสืบสวนได้จีนช่างเขียนคนหนึ่งซึ่งพูดเข้าใจความประสงค์กันได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดให้จีนคนนั้นไปหาซื้อสีที่เมืองจีน บัดนี้ได้มาแล้วสมประสงค์ เปนสีอย่างที่หนึ่งมีมากพอที่จะเขียนพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรได้สัก ๒ หลัง้..." (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๐๙ : ๖๕ - ๖๖)
        กาวที่ใช้ในการเขียนภาพ มีกาวเม็ดมะขามหรือกาวหนังสัตว์สำหรับผสมกับดินสอพองในชั้นรองพื้น และกาวจากยางกระถินเทศ ยางมะขวิด ยางมะเดื่อ ที่ใช้ผสมกับสีฝุ่น ภาษาช่างโบราณเรียกน้ำกาวที่ใช้ผสมสีว่า "น้ำยา"
        ดังนั้น สีฝุ่นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สีน้ำยา
        ขั้นการเขียนภาพ เริ่มจากการกำหนดภาพหรือเรื่อง ร่างภาพพอสังเขปลงบนกระดาษ นำไปขยายใหญ่ลงบนผืนผ้า หรือใช้วิธีปรุภาพหรือลวดลายลงบนผืนผ้า จากนั้นจึงลงมือเขียนสี ปิดทองและตัดเส้นซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย 


คุณค่าและความสำคัญของพระบฏ


        พระบฏมิใช่เป็นแค่เพียงงานศิลปะเท่านั้น แต่เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความเป็นอยู่ และความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี แสดงถึงความเจริญงอกงามของพุทธศาสนาที่เป็นบ่อเกิดของขนบประเพณีนิยม วัฒนธรรม และวิถีการดำรงชีวิตของบรรพบุรุษไทย
        พระบฏจึงเป็นมรดกที่สำคัญของชาติ ที่ควรค่าแก่การดูแล รักษา เชิดชู และหวงแหนไว้เป็นสมบัติของชาติตลอดไป แม้ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมที่เคลื่อนที่ได้ และไม่คงทนเช่นเดียวกับงานจิตรกรรมฝาผนัง แต่ในปัจจุบัน ก็ยังสามารถหาชมได้ตามวัดและพิพิธภัณฑสถานต่างๆ เช่น วัดมหาธาตุ และวัดจันทราวาส จังหวัดเพชรบุรี วัดหัวเตย จังหวัดพัทลุง พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด สยามสมาคม วัดป่าลิไลยก์และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่ง 


ที่มา : http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=109

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รู้หรือไม่? ประเทศไทยเคยออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วถึง 23 ครั้ง

หากย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นว่าประเทศไทยเคยออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วถึง 23 ครั้ง นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยใน 23 ครั้งนี้ ออกเป็นพระราชบัญญัติ 19 ฉบับ และพระราชกำหนด 4 ฉบับ ซึ่งมีทั้งการนิรโทษกรรมในความผิดทางก่อกบฏ ก่อรัฐประหาร การชุมนุมทางการเมือง ดังนี้ 

           1. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้การกระทำทั้งหลายของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ให้เป็นการละเมิดบทกฎหมาย

           2. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออก เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ออกโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา หลังทำการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
           3. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อยกโทษให้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล  
 
           4. พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองให้เป็นอิสระ
           5. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ 2489 ออกโดย นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อยกโทษให้ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่น ในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามายังประเทศไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  

           6. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

           7. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494 ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง 

           8. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อยกโทษความผิดฐานกบฏจลาจล เนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ

           9. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500 ออกโดย นายพจน์ สารสิน เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่รัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยระบุด้วยว่า สาเหตุของการทำรัฐประหาร เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและหวาดกลัว 

           10. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 ออกโดย จอมพลถนอม กิตติขจร หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจ โดยระบุว่า เป็นการรัฐประหารเพื่อกำจัดภัยคอมมิวนิสต์ที่อาจเข้ามายึดครองประเทศไทย

           11. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 ออกโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499

           12. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2515 ออกโดย จอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ร่วมทำการปฏิวัติ โดยครั้งนี้เป็นการปฏิวัติตัวเอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อชาติ และกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสมเสียใหม่
           13. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2616 ออกโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้นิสิตนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

           14. พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2517 ออกโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ

           15. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 ออกโดย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารในครั้งนั้น ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

           16. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ออกโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อยกโทษให้ผู้ที่พยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ไม่สำเร็จ
           17. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ออกโดย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อนิรโทษกรรมให้การรัฐประหารตัวเอง

           18. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 ออกโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
           19. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 ออกโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่มยังเติร์กที่พยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลพลเอกเปรม แต่ไม่สำเร็จ

           20. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 ออกโดย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่ม "กบฏ 9 กันยา" ที่พยายามรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย

           21. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532 ออกโดย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์

           22. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 ออกโดย นายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อยกโทษให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

           23. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 ออกโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อยกโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมพฤษภาทมิฬทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ทหารที่ปราบปรามประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุม

          สำหรับในปี พ.ศ. 2556 นี้ จะมีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อล้างความผิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ระหว่างปี 2547-2556 หรือไม่ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป

ที่มา : http://hilight.kapook.com/view/89598

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Halloween

ในวันที่ 31 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ เป็น วันฮาโลวีน (Halloween) ซึ่งเป็นวันที่ชาวชาติตะวันตก นิยมแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจและพาเพื่อนฝูงไปงานเลี้ยงฉลองกัน โดยในวันฮาโลวีนนั้น จะมีการประดับแสงไฟ ต่างๆ ให้คล้ายกับเมืองภูตผีปีศาจ โดยสัญลักษณะของวันฮาโลวีน คือ โคมไฟฟักทองแกะสลัก เรียกกันว่า แจ๊ก โอแลนเทิร์น (Jack-o lantern) ซึ่งประเทศที่นิยมจัดงานในวันฮาโลวีนได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหรราชอาณาจักร (อังกฤษ) แคนาดา และชาติต่างๆ อีกมากมาย แต่ในโซนเอเซียบ้านเราไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
ประวัติวันฮาโลวีน
สาเหตุที่วันฮาโลวีน ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปีนั้น เชื่อกันว่า เป็นวันที่ชาวเคลต์ (Celt) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอซ์แลนด์ ถือกันว่าเป็นวันสิ้นสุดปี โดยถือกันว่าเป็นวันที่มิติคนตายและ มนุษย์จะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและ วิญญาณผู้เสียชีวิตในปีที่ผ่านมาจะเที่ยวหาร่างของคนเพื่อสิงสู่ เพื่อที่จะได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จึงทำให้คนเป็นอย่างเรา ในวันฮาโลวีนจะต้องหหาทางแก้ไขด้วยการปิดไฟในบ้านทุกดวง ให้บ้านมืดมิด ร่วมกับอากาศที่หนาวซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของบรรดาผีร้าย อีกทั้งยังมีบางส่วนจะแต่งตัวเป็นผีต่างๆ เพื่อกลบเกลือนวิญญาณว่าไม่ใช่คนเป็นนั้นเอง
Trick or treater
Trick or Treater in Halloween Day
กิจกรรมในวันฮาโลวีน
ในวันฮาโลวีน ที่นิยมจัดกันในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะกลุ่ม เด็กๆ ที่จะแต่งกายเป็นภูตผี ปีศาจ ในรูปแบบต่างๆ และพากันออกไปร่วมงานฉลองวันฮาโลวีน โดยจะเรียกการเล่นนี้ว่า Trick of Treat (หลอกหรือเลี้ยง) ซึ่งเด็กๆ ที่แต่งตัวเป็นภูติผีปีศาจนั้นๆ จะเดินไปเคาะประตูตามบ้านต่างๆ เพื่อขอขนมที่นิยมจะเป็นลูกกวาด นั้นเองและอีกหนึ่งกิจกรรมในวันฮาโลวีน นอกจากเคาะประตูขอขนมตามบ้านต่าง ๆ แล้ว ยังมีการนำ แอปเปิล กับเหรียญชนิดหกเพ็นซ์ใส่ลงในอ่างน้ำ หากใครสามารถแยกแยะของสองอย่างนี้ ออกจากกันได้ด้วยการใช้ปากคาบเหรียญขึ้นมา และใช้ส้อมจิ้มแอปเปิลให้ติดเพียงครั้งเดียวถือว่าผู้นั้นจะโชคดีตลอดปีใหม่ ที่กำลังมาถึง
ตะเกียงฟักทอง
ประวัติ แจ็ก-โอ’-แลนเทิร์น (Jack-o’-lantern)
ตะเกียงฟักทอง,  โคมไฟฟักทอง หรือ แจ็ก-โอ’-แลนเทิร์น (Jack-o’-lantern) เป็นอุปกรณ์ประดับตกแต่งสถานที่ซึ่งนิยมใช้ใน เทศกาลฮาโลวีน มีลักษณะเป็นผลฟักทองสีส้ม แกะสลักเป็นรูปหน้าคนในกริยาต่างๆ โดยมากมักเป็นกริยาแสดงอาการข่มขวัญ หรือโอดครวญ ทั้งนี้ การใช้ตะเกียงฟักทอง เป็นการระลึกถึง แจ็ก (jack) ชายชาวนาในตำนานที่หาญกล้าต่อกรกับซาตาน