วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

เขื่อนแม่วงก์

เขื่อนแม่วงก์ 


เป็นโครงการก่อสร้างในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กั้นแม่น้ำแม่วงก์บริเวณเขาชนกัน หรือเขาสบกก  ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555 เป็นเงิน 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 - 2562
เขื่อนแม่วงก์เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีความยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 13,000 ไร่ ปริมาณกักเก็บน้ำประมาณ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร 
โครงการก่อสร้างได้รับการศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ จนกระทั่งได้รับการอนุมัติการก่อสร้างในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยให้เหตุผลว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำสะแกกรัง แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งจากองค์กรพัฒนาเอกชน ว่าเป็นเขื่อนขนาดเล็ก ซึ่งไม่คุ้มค่าการลงทุน และต้องมีการสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 18 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด รวมทั้งเสือโคร่ง ช้าง และนกยูง

ผลกระทบเบื้องต้น
การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีไม้สักประมาณ 50,000 ต้น กล้าไม้อีก 10,000 ต้น หรือเปรียบ เทียบได้ว่าพื้นที่ป่า 1 ไร่ ที่จะถูกน้ำท่วมจะมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 80 ต้นเป็น ไม้สัก 13 ต้น ลูกไม้ 576 ต้น และกล้าไม้อีก 1,880 ต้น
จากการคำนวณพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไป จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อคำนวณเป็น ปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามารถดูดซับไว้ได้นั้น หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ที่ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน ป่าแม่วงก์มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างน้อย 549 ชนิด และมีปลาอาศัยอยู่ในลำน้ำ 64 ชนิด (ใน EIA รายงานไว้ 61 แต่สำรวจเจอเพิ่มจากการลงพื้นที่อีก 3 ชนิด) ในจำนวนนี้มีเพียง 8 ชนิด หรือ 13% ที่สามารถผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่งในอ่างเหนือเขื่อนได้นอกนั้นต้องอาศัยพื้นที่น้ำไหลหรือน้ำหลากซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ[3]