วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

พระบฏ คืออะไร?





        พระบฏ คือผืนผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธประวัติหรือชาดก คำว่า "บฏ" มีรากศัพท์ในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ - ตะ) หมายถึง ผ้าทอ ผืนผ้า
        การประดับอาคารศาสนสถานด้วยผ้าเขียนภาพต่างๆ นั้น เป็นคตินิยมเนื่องในพุทธศาสนามหายานจากประเทศอินเดีย และได้ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ เช่นจีนและญี่ปุ่น ดังพบหลักฐานการเขียนภาพบนผืนผ้าและนำไปประดับตามศาสนสถานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ (สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง) ส่วนใหญ่เป็นภาพพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี หรือพระโพธิสัตว์ แวดล้อมด้วยพระสาวก (มาลินี คัมภีรญาณนนท์ ๒๕๓๒)
        ในจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑๐๖ (จารึกวัดช้างล้อม) กล่าวถึงพนมไสดำ ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ ไว้เป็นอันมาก และในปีพุทธศักราช ๑๘๒๗ "...จึงมาตั้งกระทำหอพระปีฎกธรรมสังวร ใจบูชาพระอภิธรรมกับด้วยพระบดจีนมาไว้ ได้ปลูกทั้งพระศรีม(หาโ)พธิ อันเป็นจอมบุญจอมศรียอ...พระบดอันหนึ่ง ด้วยสูงได้ ๑๔ ศอกกระทำให้บุญไปแก่สมเด็จมหาธรรมราชา กระทำพระหินอันหนึ่ง ให้บุญไปแก่มหาเทวี..." (สำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๑๓) 


        ดังนั้น คติการสร้างพระบฏในสมัยสุโขทัย จึงนิยมทำขึ้นเพื่อการอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
        ในจารึกหลักเดียวกันนี้ยังกล่าวถึง "พระบฏจีน" ซึ่งอาจจะเป็นพระบฏที่เขียนขึ้นเนื่องในคติมหายานตามความนิยมของจีน หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจหมายความว่าการเขียนภาพบนผ้านั้น ทำตามแบบอย่างของจีน จึงเรียกว่าพระบฏจีน
        ในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช วรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยา (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓) ก็ได้กล่าวถึงพระบฏไว้หลายตอนด้วยกัน เช่น
        "...ครั้งนั้น ยังมีผขาวอริยพงษ์ อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลงกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นที่ปากพนัง พระบตขึ้นที่ปากพนัง ชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอนทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากน้ำ พระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบต ผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาวๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดี..." (กรมศิลปากร ๒๕๑๗)
        พระบฏที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ได้มาการขุดกรุพระเจดีย์ วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยกรมศิลปากร ในโครงการสำรวจทางโบราณคดีเหนือเขื่อนภูมิพล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบฎผืนนี้มีขนาดใหญ่มาก คือกว้าง ๑.๘ เมตร และยาวถึง ๓.๔ เมตร เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ แวดล้อมด้วยเหล่าทวยเทพ สภาพเมื่อแรกพบนั้นชำรุด มีรอยขาดผ่ากลาง ซึ่งเป็นลักษณะการชำรุดก่อนที่จะนำไปบรรจุไว้ในหม้อดิน จึงสันนิษฐานว่าพระบฏนี้มีอายุเก่ากว่าพระเจดีย์ หรือมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒
        ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัตถุประสงค์การสร้างพระบฏยิ่งหลากหลายออกไป กล่าวคือมีทั้งที่ทำขึ้นเพื่อสืบทอดพระศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ และเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว เมื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย จึงทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพระบฏไปด้วย ทั้งในด้านเรื่องราว วัสดุ และขนาด 



เทคนิคการเขียนพระบฏ


        พระบฏคืองานจิตรกรรมไทยประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงมีวิวัฒนาการทางด้านรูปแบบคือการเขียนเรื่องราว การจัดวางองค์ประกอบ และเทคนิควิธีการเขียนเช่นเดียวกับจิตรกรรมไทยประเพณีในรูปแบบ ซึ่งประกอบด้วยสองขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ และขั้นการเขียน
        ขั้นเตรียมการ หมายถึง การเตรียมผ้า เตรียมสี และเตรียมกาว ผ้าที่นิยมใช้ทำพระบฏ คือ ผ้าฝ้ายสีขาว ทารองพื้นด้วยดินสอพองผสมกับกาวเม็ดมะขามหรือกาวหนังสัตว์ ที่แตกต่างไปจากการเขียนลงบนพื้นวัสดุอื่นๆ ก็คือในการเขียนพระบฏนั้น ชั้นรองพื้นและชั้นสี ต้องทาเพียงบาง ๆ เพื่อให้สามารถม้วนเก็บได้และสีจะไม่แตกหักหรือกะเทาะง่าย
        สีฝุ่นที่ใช้เขียนเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ คือ ดิน แร่ หิน โลหะ นำไปบดหรือเผาไฟให้สุก ตากแห้งแล้วบดให้ละเอียด มีบางชนิดที่ได้จากส่วนต่างๆ ของพืชและสัตว์ นำไปต้มหรือตำ คั้นเอาน้ำมากรอง เกรอะให้แห้ง จากนั้นจึงนำไปบดเป็นผงละเอียด สีฝุ่นที่ใช้ในสมัยโบราณมีสีดำ สีขาว สีแดง และสีเหลือง ในสมัยอยุธยาตอนปลายมีสีเพิ่มขึ้นและมีสีสดมากขึ้น เช่น สีเหลืองสด สีเขียวสด สีแดงชาด ฯลฯ อันเป็นสีที่สั่งเข้ามาจากจีน ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในยุคต้น ๆ นั้น มีสีฝุ่นมากมายหลายชนิดด้วยกัน (วรรณิภา ณ สงขลา ๒๕๓๓)
        เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ สีฝุ่นอย่างโบราณเริ่มหายาก และช่างเขียนหันไปนิยมใช้สีสมัยใหม่กันมากขึ้นด้วย ดังที่ปรากฏในหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวถึงสีสมัยใหม่ ที่พระองค์ท่านเรียกว่า "สีสวรรค์" หรือ "สีสวรรย์" ในระยะนี้ว่า 


        "...อนึ่งข้าพระพุทธเจ้ามีความวิตกด้วยสีน้ำยา เพราะเหตุว่าที่มีขายในท้องตลาดทุกวันนี้ มีแต่สีปลอมคือเอาดินเหลืองมาย้อมสีสวรรย์ขาย เมื่อลลายจะใช้การ สีสวรรย์ลอยอยู่บนน้ำ ดินเหลืองนอนอยู่ก้น เมื่อจะทาต้องกวนอยู่ไม่หยุดได้ แลเมื่อเขียนแล้ว ล่วงเดือนหนึ่ง ไม่ใคร่มีอะไรติดอยู่ ความวิตกอันนี้เกิดขึ้นแก่การที่จะเขียนพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เกรงด้วยเกล้าฯ ว่าจะไม่มีน้ำยาใช้ ให้ของอยู่ทนนานสมพระราชประสงค์ จึงได้คิดจะหาสีมาจากเมืองจีน จึ่งสืบสวนได้จีนช่างเขียนคนหนึ่งซึ่งพูดเข้าใจความประสงค์กันได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดให้จีนคนนั้นไปหาซื้อสีที่เมืองจีน บัดนี้ได้มาแล้วสมประสงค์ เปนสีอย่างที่หนึ่งมีมากพอที่จะเขียนพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรได้สัก ๒ หลัง้..." (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๐๙ : ๖๕ - ๖๖)
        กาวที่ใช้ในการเขียนภาพ มีกาวเม็ดมะขามหรือกาวหนังสัตว์สำหรับผสมกับดินสอพองในชั้นรองพื้น และกาวจากยางกระถินเทศ ยางมะขวิด ยางมะเดื่อ ที่ใช้ผสมกับสีฝุ่น ภาษาช่างโบราณเรียกน้ำกาวที่ใช้ผสมสีว่า "น้ำยา"
        ดังนั้น สีฝุ่นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สีน้ำยา
        ขั้นการเขียนภาพ เริ่มจากการกำหนดภาพหรือเรื่อง ร่างภาพพอสังเขปลงบนกระดาษ นำไปขยายใหญ่ลงบนผืนผ้า หรือใช้วิธีปรุภาพหรือลวดลายลงบนผืนผ้า จากนั้นจึงลงมือเขียนสี ปิดทองและตัดเส้นซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย 


คุณค่าและความสำคัญของพระบฏ


        พระบฏมิใช่เป็นแค่เพียงงานศิลปะเท่านั้น แต่เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความเป็นอยู่ และความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี แสดงถึงความเจริญงอกงามของพุทธศาสนาที่เป็นบ่อเกิดของขนบประเพณีนิยม วัฒนธรรม และวิถีการดำรงชีวิตของบรรพบุรุษไทย
        พระบฏจึงเป็นมรดกที่สำคัญของชาติ ที่ควรค่าแก่การดูแล รักษา เชิดชู และหวงแหนไว้เป็นสมบัติของชาติตลอดไป แม้ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมที่เคลื่อนที่ได้ และไม่คงทนเช่นเดียวกับงานจิตรกรรมฝาผนัง แต่ในปัจจุบัน ก็ยังสามารถหาชมได้ตามวัดและพิพิธภัณฑสถานต่างๆ เช่น วัดมหาธาตุ และวัดจันทราวาส จังหวัดเพชรบุรี วัดหัวเตย จังหวัดพัทลุง พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด สยามสมาคม วัดป่าลิไลยก์และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่ง 


ที่มา : http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=109