1. ข้อสอบเขียน
สอบข้อเขียนในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น เป็นข้อสอบ "เขียน" จริงๆ ไม่ใช่การเติมคำ ไม่ใช่จับคู่ ไม่ใช่เขียนเพื่อให้การสอบฟังดูสวยหรู แต่น้องๆ จะได้เขียนร่ายยาวกันเป็นหน้ากระดาษ A4 กับโจทย์ 1 ข้อ โดยเฉพาะคณะทางสายศิลป์ อย่างคณะอักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์ โดนแน่นอนค่ะ อย่างเช่น โจทย์ถามว่าทำไมเราต้องแปรงฟัน โจทย์ก็จะมาแค่นี้ แต่พื้นที่ให้ตอบ มีตั้งแต่ระบุบรรทัด ไปจนถึงให้กระดาษมา 5 แผ่นแม็กติดมากับกระดาษคำถาม ส่วนคำตอบของเราจะเขียนอะไรก็เชิญเขียนตามอัธยาศัย (แต่ต้องเขียนให้ตอบโจทย์ที่ถามมาด้วยนะ)
การเตรียมตัวสอบข้อเขียน คงขึ้นอยู่กับความรู้ที่ มี เรียกว่าต้องประมวลทุกอย่างในหัวออกมาเขียน ซึ่งจะต้องปรับตัวจากตอนเรียนมัธยมมากๆ เลย อย่างแรกคือ ต้องเรียนด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ท่องจำ หากใช้วิธีท่อง เกิดสะดุดตอไม้สติหลุดเขียนคำตอบไม่ได้แน่ๆ ค่ะ อีกอย่างถ้าคำถามมาไม่ตรงกับที่เราท่องจำก็ทำไม่ได้อีก แต่ถ้าเราเรียนแบบเข้าใจก็จะสามารถเรียบเรียงคำตอบได้อย่างเป็นระบบ :D
2. ข้อสอบหลายช้อยส์
ข้อสอบแบบหลายช้อยส์ที่น้องๆ เคยเจออาจจะสูงสุดแค่ 5 ตัวเลือกใช่มั้ยคะ แต่ระดับมหาวิทยาลัยแอดวานซ์กว่านั้นหลายขุมนัก โดยคำถามชุดนึงอาจจะมีช้อยส์ถึง 20 ตัวเลือก แต่ใช้ร่วมกับคำถามหลายๆ ข้อ คล้ายๆ กับข้อสอบเติมคำภาษาอังกฤษที่จะมีแผงคำตอบอยู่ด้านบน แล้วให้เลือกลงช่องว่างให้ถูกต้อง สำหรับข้อสอบแบบนี้ ต้องยกนิ้วเรื่องความยากเลยค่ะ เพราะผิดแล้วผิดเลย จะมานั่งแถน้ำท่วมทุ่มไม่ได้เหมือนข้อสอบเขียน
3. Open Book
ไม่แน่ใจว่ามีโรงเรียนไหนเคยสอบวิธีบ้างหรือเปล่า การสอบแบบ open book นี่เหมือนจะดีนะคะ เพราะเราสามารถเอาหนังสือหรือสมุด หรือสรุปชีทต่างๆ เข้าห้องสอบได้ด้วย ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนจับทุจริต แต่มันโหดเหี้ยมกว่านั้น การันตีมาจากพี่ๆ หลายคนว่า ถึงเอาหนังสือหรือสมุดเข้าไปได้ก็จริง แต่ก็แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะข้อสอบก็จะยากกว่าเดิม เปิดหนังสือเท่าไหร่ก็หาไม่เจอคำตอบ เผลอๆ เสียเวลาเปิดหนังสือไปฟรีๆ จนบางทีอาจารย์เสนอให้สอบแบบ Open book แต่คนสอบขอสอบแบบเดิมจะดีกว่า ฮ่าๆ
4. สอบปากเปล่า
เจอข้อสอบที่ระทึกที่สุดไปแล้ว แนะนำให้เจอการสอบที่กดดันอีกรูปแบบนึงแล้วกัน
การสอบปากเปล่า หรือ Oral Exam คือ การตอบคำถามต่อหน้าอาจารย์ด้วยปากเปล่า เปิดหนังสือไม่ได้แน่นอนค่ะ โดยเราจะต้องเตรียมตัวมาให้พร้อมตั้งแต่ที่บ้าน อ่านหนังสือมาให้เยอะๆ ซ้อมถาม ซ้อมตอบเอาเอง ซึ่งการสอบแบบนี้จะไม่ได้วัดวิชาการเพียงอย่างเดียวนะคะ แต่จะวัดเรื่องความคิดเห็นด้วย อาจารย์จะยิงคำถาม "อะไร" "ทำไม" "เพราะอะไร" คล้ายๆ กับการสอบสัมภาษณ์ ให้เราแสดงความคิดเห็น พี่มิ้นท์เคยโดนสอบด้วยวิธีนี้ด้วยค่ะ ตื่นเต้นสุดๆ เลย เพราะอาจารย์จะมองหน้าเราตลอดการสอบปากเปล่า ส่วนตัวเราเองก็ต้องตื่นเต้นว่าอาจารย์จะถามอะไรต่อไป เราจะตอบได้มั้ย แค่ย้อนกลับไปคิดก็เหนื่อยแล้วค่ะ
5. แล็บกริ๊ง
การสอบสุดฮิตของเด็กสายวิทย์ในระดับมหาวิทยาลัยคือ แล็บกริ๊ง ฟังชื่อนี้แล้วจำให้แม่นๆ เลย
"แล็บกริ๊ง" เป็นรูปแบบการสอบที่จะแบ่งข้อสอบออกเป็นโต๊ะๆ หรือเรียกว่า สถานี สถานีละ 1 ข้อ มีเวลาทำข้อละประมาณ 1 นาที หลังจากนั้นจะมีสัญญาณดังกริ๊งขึ้นมา ทุกคนจะต้องขยับไปสถานีต่อไปทันที ดังนั้นเท่ากับว่า น้องๆ จะมีเวลาทำ คิด ขีด เขียนข้อสอบแค่ข้อละ 1 นาที จะทำอะไรต้องรีบๆ ทำค่ะไม่อย่างนั้นพอไปเจอโจทย์ข้อใหม่ก็ต้องคิดโจทย์ข้อใหม่ทันที
6. ประยุกต์เอาความรู้มาใช้จริง
เป็นรูปแบบการสอบที่ค่อนข้างพิสูจน์ความสามารถคนเรียนจริงๆ อย่างที่รู้ๆ กันว่าในมหาวิทยาลัยมีหลายวิชาที่เป็นวิชาเชิงปฏิบัติ จะสอบทีก็เลยต้องลงมือทำจริงๆ ซะเลย อย่างเช่น วิชาการตลาด พี่มิ้นท์ได้สืบเสาะถามจากปากคนที่เคยเรียนการตลาดได้ความมาว่า มีโปรเจคต้องทำสินค้าขึ้นมาจริงๆ (แต่ละที่อาจไม่เหมือนกันนะคะ) เช่น ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งโลโก้ รูปแบบ ผลิตภัณฑ์ แล้วส่งสินค้าตัวนั้นๆ ให้อาจารย์ไปตรวจ หรือ มีโปรเจคที่ต้องจัดกิจกรรม ให้เราติดต่อสปอนเซอร์ให้ได้ ถ้าติดต่อได้ตามเกณฑ์ก็ถือว่าผ่าน เป็นต้น เรียกว่าอาจารย์ให้ความรู้กับคนเรียน แต่คนเรียนนี่แหละที่ต้องเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลขึ้นมาจริงๆ ทำได้ก็คือได้ ทำไม่ได้ก็คือ จบ! สอบตกไปตามระเบียบ T^T
ที่มา : http://www.dek-d.com/education/33976/