วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตะลึง! เด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 5 เล่ม



นักวิชาการชี้ ผลสำรวจปี 2551 พบเด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 5 เล่ม แม้ในปี 2554 จะมีสถิติการอ่านเพิ่มมากขึ้น 

แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ ดังนั้นรัฐควรกระตุ้นการอ่านอย่างต่อเนื่อง
 
          เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเสวนา 100 หนังสือที่เด็กและเยาวชนควรอ่าน เพื่อพูดคุยถึงพฤติกรรมการอ่านหนังสือของ โดย รศ.วิทยากร เชียงกูล หัวหน้าวิจัยโครงการ 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย เปิดเผยว่า โครงการ วิจัยดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อสร้างแรงกระตุ้นนิสัยรักการอ่านในสังคมไทย เนื่องจากที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักมองว่าหนังสือประเภทบันเทิงคดี เป็นหนังสือสำหรับอ่านเล่นเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงหนังสือประเภทนี้ กลับมีบทบาทช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก
 
          ทั้งนี้ การคัดเลือก 100 หนังสือที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มวัยตามความสนใจและการรับเนื้อหาที่แตกต่างกัน คือ
 
          1. กลุ่มเด็กเล็ก อายุ 0-6 ปี จะคัดเลือกหนังสือที่มีรูปภาพประกอบและมีเนื้อหาที่อ่านง่าย
 
          2. กลุ่มเยาวชน อายุ 6-12 ปี จะ คัดเลือกหนังสือที่เด็กสามารถเอาตนเองไปเปรียบเทียบได้อย่างสนุก มีเนื้อหาที่สะท้อนชีวิตมากขึ้นทั้งความหวัง ความเศร้า แต่เนื้อหาจะไม่หดหู่และร้ายแรงจนเกินไป
 
          3. กลุ่มวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี คัดเลือกหนังสือที่มีมีเนื้อหาหลากหลาย โครงเรื่องซับซ้อนมากขึ้น และมีการใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่สื่อความหมายได้ดี
 
          รศ.วิทยากร กล่าวต่อว่า จากการคัดเลือกหนังสือเพื่อส่งเสริมการอ่านดังกล่าว ทำให้พบว่า ในภาพรวมของประเทศไทย ยังถือว่ามีการพัฒนาหนังสือสำหรับเด็กเล็กค่อนข้างน้อย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันพัฒนา เพราะ ช่วงเด็กถือเป็นช่วงที่สามารถพัฒนาทักษะการอ่าน และปลูกฝังพฤติกรรมรักการอ่านได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะช่วงอายุ 4 ขวบ หากเด็กเล็กได้อ่านหนังสือและเกิดติดใจ จะถือเป็นแรงกระตุ้นที่ดีที่เด็กจะติดนิสัยรักการอ่านไปตลอดชีวิต
 
          ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2551 ระบุว่า คน ไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ใช้เวลาอ่านหนังสือเรียนนอกเวลาเรียนและเวลาทำงาน เฉลี่ยวันละ 39 นาที โดยกลุ่มเยาวชนถือเป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือมากที่สุด เฉลี่ย 46 นาที แต่หากเทียบกับประเทศอื่นยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก ซึ่งจาก การจัดลำดับพฤติกรรมการอ่านพบว่าใน 1 ปี เด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 5 เล่ม ขณะที่เวียดนาม อ่าน 60 เล่ม สิงคโปร์ อ่าน 45 เล่ม และมาเลเซีย อ่าน 40 เล่ม ดังนั้น รัฐบาลจึงควรผลักดันนโยบายรักการอ่านอย่างจริงจังในระยะยาวด้วย
 
          ด้าน นายปรีดา ปัญญาจันทร์ หนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกหนังสือ กล่าวว่า หนังสือเด็กและเยาวชนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน หากเทียบกับจำนวนเนื้อหาพบว่า ประเทศไทยมีผู้ผลิตหนังสือเด็กและเยาวชนของประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ เนื่อง จากหนังสือเด็กในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนใหญ่จะเน้นการนำนิทานพื้นบ้านกลับมาทำใหม่ ส่วนหนังสือเด็กในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่มาจากต่างประเทศเพราะไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา ขณะที่ในประเทศไทยนั้น พบว่าปัจจุบันหนังสือแปลจากต่างประเทศลดลง แต่มีการผลิตเนื้อหาภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้อ่านยังคงเป็นกลุ่มเดิมที่มีพื้นฐานการศึกษา และฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมีมาตรการสนับสนุนกลุ่มเด็กที่มีฐานะยากจนให้เข้าถึงหนังสือมากยิ่งขึ้น
 
          อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสํารวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ดำเนินการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2554 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน พ.ศ. 2554 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 53,000 ครัวเรือน พบว่า เด็กเล็กใน กทม. มีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด ร้อยละ 63.0 ส่วนผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือ ร้อยละ 68.6 ดังนั้นจึงพบว่า วัยเด็ก มีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าวัยอื่น รองลงมาคือ กลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มสูงอายุ
 
          ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้ ผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป ได้ให้ข้อเสนอแนะในการรณรงค์ให้คนนักการอ่านหนังสือในหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น หนังสือควรมีราคาถูกลง และมีเนื้อหาสาระน่าสนใจ รวมทั้งควรมีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน/ชุมชน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการอ่านหนังสือของประชากร ซึ่งสำรวจไว้ในปี 2551 พบ ว่า ประชากรมีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น จากเดิมร้อยละ 63.0 เป็นร้อยละ 53.5
 
          สำหรับ กลุ่มผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จากเดิมร้อยละ 66.3 เป็นร้อยละ 68.6 ทั้งนี้ อาจเนื่องจากมีการรณรงคส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน และปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน จึงเชื่อว่าหากรัฐบาลมีการผลักดันโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง สิถิติการอ่านหนังสือของคนไทยน่าจะขยับสูงขึ้นอี