วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ศีลอด

ศีลอด (ภาษาอาหรับ: صيام /ศิยาม/) หมายถึง การงดการกิน การดื่ม การเสพ และการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่ยามรุ่งอรุณ จนกระทั่งถึงเวลาหลังตะวันตกดิน นอกจากนี้ยังเรียกว่า "ถือบวช" มุสลิมที่พูดภาษามาลายูปัตตานีในภาคใต้ของไทยเรียกการถือศีลอดว่า ปอซอ (จากภาษามาลายู puasa)

การถือศิลอดเป็นศาสนกิจที่ประเสริฐที่สุดอีกประการหนึ่ง เป็นศาสนกิจที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้เป็นศาสนบัญญัติทุกช่วงยุคสมัยหรือทุกๆประชาชาติในอดีต อัลลอฮฺตรัสว่า
{2:183} ดูกร บรรดาผู้มีศรัทธา! การถือศีลอด นั้นได้ถูกกําหนดแก่พวกเธอแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกําหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเธอ เพื่อว่าพวกเธอจะได้ยำเกรง
{2:184} ในเหล่าวันที่ถูกกำหนดไว้ แล้วผู้ใดในพวกเธอป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือชดใช้ในวันอื่นแทน และหน้าที่ของบรรดาผู้ที่มีความลําบากยากไม่อาจที่จะถือศีลอดนั้น คือการชดเชยอันได้แก่การให้อาหารแก่คนขัดสนคนหนึ่ง แต่ผู้ใดกระทำความดีโดยสมัครใจ มันก็เป็นความดีแก่เขา และการที่พวกเธอจะถือศีลอดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่าแก่พวกเธอ หากพวกเธอรู้
{2:185} เดือนรอมะฎอนนั้นเป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาเป็นการชี้นำสำหรับมนุษย์และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับการชี้นำนั้น และเกี่ยวกับมาตรการจําแนกข้อเท็จจริง ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเธอเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น และผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือชดใช้ในวันอื่นแทน อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเธอ และไม่ทรงให้มีความลําบากแก่พวกเธอ และเพื่อที่พวกเธอจะได้ทำให้ครบตามกำหนด และเพื่อพวกเธอจะสรรเสริญความเกรียงไกรแด่อัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ทรงชี้นำพวกเธอ และเพื่อพวกเธอจะขอบพระคุณ
{2:186} และเมื่อบ่าวของฉันถามเธอถึงฉัน อันที่จริงฉันนี้อยู่ใกล้ ฉันจะตอบรับคําวิงวอนของผู้ที่วิงวอน ถ้าเขาวิงวอนต่อฉัน ดังนั้นพวกเขาจงตอบรับฉันและจงมีศรัทธาต่อฉัน เพื่อว่าพวกเขาจะได้รับการชี้นำ
{2:187} ได้เป็นที่อนุมัติแก่พวกเธอแล้วซึ่งการสมสู่กับบรรดาภรรยาของพวกเธอในค่ำคืนของการถือศีลอด นางทั้งหลายนั้นคือเครื่องนุ่งห่มของพวกเธอ และพวกเธอก็คือเครื่องนุ่งห่มของพวกนาง อัลลอฮฺทรงรู้ว่า พวกเธอนั้นเคยทุจริตต่อตัวเอง แล้วพระองค์ก็ทรงยกโทษให้แก่พวกเธอ และอภัยให้แก่พวกเธอแล้ว บัดนี้พวกเธอจงสมสู่กับพวกนางได้ และแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงกําหนดให้แก่พวกเธอเถิด และจงกินและดื่ม จนกระทั่งด้ายเส้นขาวจะประจักษ์แก่พวกเธอจากด้ายเส้นดํา เนื่องจากแสงรุ่งสาง แล้วพวกเธอจงให้การถือศีลอดครบเต็มจนถึงพลบค่ำ และพวกเธอจงอย่าสมสู่กับพวกนาง ขณะที่พวกเธอพักสงบอยู่ในมัสญิด นั่นคือบรรดาขอบเขตของอัลลอฮฺ ดังนั้นพวกเธอจงอย่าล้ำขอบเขตนั้น ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮฺจะทรงแจกแจงบรรดาสัญญาณของพระองค์แก่ปวงมนุษย์ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ยำเกรง

ประเภทของศีลอด

การถือศีลอดมี 4 ประเภทเช่น
1. ศีลอดบังคับ ที่ชายหญิงมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติในเดือนรอมะฎอนทุกปี ในระยะเวลา 29 หรือ 30 วัน
2. ศีลอดอาสา ที่ชายหญิงมุสลิมถือศีลอดในวันอื่น ๆ นอกเดือนรอมะฎอน
3. ศีลอดที่บนบานไว้ เช่น บนบานว่า ถ้าหายป่วยจะถือศีลอดสามวัน
4. ศีลอดเพื่อเป็นการไถ่โทษ (กัฟฟาเราะหฺ) เนื่องจากความผิดบางประการ การถือศีลอดเพื่อลบล้างความผิด ตามที่ปรากฏในอัลกุรอาน มีดังนี้
4.1 เมื่อมุสลิมได้ฆ่ามุสลิมอีกคนหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ ให้ปล่อยทาสเป็นอิสระ 1 คน แต่ถ้าไม่สามารถจะไถ่ความผิดโดยการปล่อยทาสได้ ก็ให้ถือศีลอดแทนเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน {อัลกุรอาน 2:92}
4.2 ถือศีลอดลบล้างการหย่าแบบซิฮาร เป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน
4.3 ถือศีลอดลบล้างความผิดที่สาบานที่จะไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถูกต้องและชอบธรรม โดยถือศีลอดเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน ในกรณีที่ผู้นั้นไม่สามารถปล่อยทาสให้เป็นอิสระหรือเลี้ยงคนยากจนถึง 10 คนได้ {อัลกุรอาน 5:89}
4.4 ถือศีลอดลบล้างความผิดตามคำพิพากษาของผู้เที่ยงธรรม 2 คน เมื่อผู้นั้นล่าสัตว์ ขณะที่กำลังอยู่ในระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ ในเงื่อนไขที่ว่าผู้นั้นไม่สามารถให้อาหารแก่คนยากคนจนได้ {อัลกุรอาน 5:89}
5. ศีลอดเพื่อชดเชยข้อบกพร่องในพิธีกรรมฮัจญ์ เช่น ให้ถือศีลอดชดเชย 3 วัน หากผู้ทำฮัจญ์ไม่สามารถบริจาคทานหรือพลีกรรมสัตว์ได้ตามกำหนดการ

มุสลิมที่ต้องถือศีลอดเดือนรอมะฎอน

1. บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ หรือที่เรียกว่า บรรลุศาสนภาวะ ด้วยเหตุนี้ ศีลอดจึงไม่เป็นข้อบังคับสำหรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ
2. มีสติสัมปชัญญะครบบริบูรณ์ ศีลอดจึงไม่เป็นข้อบังคับสำหรับคนที่วิกลจริต แม้ว่าอาการวิกลจริตจะเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งในเวลากลางวันก็ตาม
3. ไม่เมาหรือหมดสติ
4. ไม่เจ็บป่วย เพราะการถือศีลอดอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพกรณีที่ไม่สบาย
5. ไม่มีระดูหรือมีเลือดหลังจากการคลอดบุตร
6. ผู้ที่ไม่ได้เดินทางไกล

บุคคลที่ได้การผ่อนผันจากการถือศีลอดในเดือนรอมะฏอน

บุคคลที่ได้การผ่อนผันจากการถือศีลอดในเดือนรอมะฏอน แต่ต้องจ่ายค่าปรับโดยการให้ทานเป็นอาหารแก่คนยากจน เช่นข้าวสาร หรือข้าวสาลี ประมาณ 3 กิโลกรัม เมื่อใดที่มีความสามารถ ก็จะต้อถือศีลอดชดใช้ เท่าจำนวนวันเวลาที่ขาดไป
1. ชายชราและหญิงชราที่ไม่สามารถถือศีลอด เพราะเหน็ดเหนื่อยหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2. บุคคลที่เป็นโรคกระหายน้ำอย่างรุนแรง หากไม่ดื่มน้ำ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
3. หญิงตั้งครรภ์ ที่การถือศีลอดอาจมีผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์หรือต่อตัวเอง
4. แม่ลูกอ่อนที่มีน้ำนมน้อย ที่การถือศีลอดอาจมีผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์หรือต่อตัวเอง

บุคคลที่ไม่อนุมัติให้ถือศีลอดในเดือนรอมะฏอนหรือศีลอดอื่น ๆ

1. สตรีที่มีระดู
2. สตรีที่มีเลือดหลังการคลอดบุตร
ทั้งสองจะต้องชดเชยการถือศีลอดเดือนรอมะฏอน ในวันอื่นแทน เท่าจำนวนวันที่ขาดไป โดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับโดยการให้ทานเป็นอาหารแก่คนยากจน

การเริ่มถือศีลอด

มุสลิมเริ่มถือศีลอดก่อนเวลานมาซศุบฮิอย่างน้อย 10 นาที เรียกเวลานั้นว่า "อิมสาก" ที่ต้องหยุดรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม และชำระร่างกายให้พ้นจากมลทินของญุนุบ

"การแก้ศีลอด" หรือการ"แก้บวช"

การแก้ศีลอดคือการหยุดถือศีลอด มุสลิมแก้ศีลอดหลังจากดวงอาทิตย์ตกดิน ด้วยการดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร

สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเสีย

ผู้ถือศีลอดคนใดคนหนึ่งได้กระทำในสิ่งดังต่อไปนี้ ถือว่า ศีลอดของเขาเสียทันที และจะต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลังจากเดือนรอมะฎอนได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่ทำให้ศีลอดเสียมี 10 ประการดังต่อไปนี้
1. ตั้งใจกิน ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม
2. ตั้งใจดื่ม ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม
3. ร่วมประเวณี
4. ตั้งใจให้ฝุ่นละออง หรือควัน หรือไอน้ำที่มีจำนวนมากเข้าไปในลำคอ
5. การสวนทวารด้วยของเหลวทุกชนิด
6. การตั้งใจอาเจียน
7. การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่ว่าชายหรือหญิง
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเสียอีกหลายข้อ ที่มัซฮับต่าง ๆ มีทัศนะที่แตกต่างกัน เช่น
8. ตั้งใจดำน้ำโดยให้ศีรษะทั้งหมดอยู่ใต้น้ำ
9. ตั้งใจคงสภาพการมีญุนุบ (หมายถึงภายหลังจากได้ร่วมหลับนอนกับภรรยา หรือหลังจากที่อสุจิได้เคลื่อนออกมาแล้วยังไม่ได้อาบน้ำตามศาสนบัญญัติ) หรือแม้แต่จะไม่ตั้งใจคงสภาพดังกล่าว แต่เป็นเพราะหลงลืมถือว่าศีลอดเสียและต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลัง

โทษทัณฑ์ของผู้ที่ทำให้ศีลอดเดือนรอมะฏอนของตนเสียโดยเจตนา

ตามทัศนะอะหฺลุซซุนนะหฺ ผู้ใดที่ทำให้การถือศีลอดเสียด้วยการร่วมประเวณีในขณะถือศีลอด นอกจากจะต้องชดใช้วันที่เสียไปแล้ว ยังจะต้องชดใช้ปรับโทษดังนี้
1. ปล่อยทาสเป็นเชลย 1 คน
2. ถ้าไม่มี ให้ถือศีลอด 2 เดือนติดต่อกัน ถ้าขาดแม้เพียงวันเดียวต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่
3. ถ้าทำไม่ได้ เนื่องจากเจ็บป่วย หรือเหน็ดเหนื่อยเพราะมีอายุมาก ให้บริจาคอาหารแก่คนยากจน 60 คน อาหารที่จะให้ต้องมีคุณภาพเท่าที่ตนใช้บริโภคประจำวัน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น