วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จันทรุปราคาเต็มดวง 10 ธันวาคม 2554











พ.ศ. 2554 มีจันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้น 2 ครั้ง ประเทศไทยมีโอกาสเห็นได้ทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 15 มิถุนายน (เข้าสู่เช้ามืดวันที่ 16 มิถุนายน) ซึ่งมีรายงานว่าหลายพื้นที่ในประเทศไทยไม่สามารถมองเห็นได้ เนื่องจากเมฆปกคลุมท้องฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ครั้งที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในคืนวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2554 มีโอกาสเห็นได้ดีกว่า เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาว แม้ว่าช่วงเวลามืดเต็มดวงจะสั้นกว่าครั้งที่แล้วมาก
จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เป็นอุปราคาครั้งสุดท้ายของปี 2554 เกิดขึ้นในคืนวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2554 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ และสำหรับวงการโทรทัศน์แล้วถือเป็นช่วงเวลาที่มีผู้สนใจมากที่สุด (prime time) เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่นอน ต่างกับครั้งที่แล้วที่เกิดในเวลากลางดึก
พื้นที่บนโลกที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมประเทศไทย คือ ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ยุโรป เอเชีย ฮาวาย มหาสมุทรแปซิฟิก และเกือบทั้งหมดของทวีปอเมริกาเหนือ โดยแถบยุโรปและแอฟริกาเกิดปรากฏการณ์ขณะดวงจันทร์ขึ้นในค่ำวันที่ 10 ธันวาคม ส่วนแถบอเมริกาเกิดปรากฏการณ์ขณะดวงจันทร์ตกในเช้ามืดของวันเดียวกัน ตามเวลาท้องถิ่น

 

จันทรุปราคา

จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ มาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน จนทำให้ดวงจันทร์ผ่านเงาของโลกซึ่งทอดยาวออกไปในอวกาศ เงานี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงามืดและเงามัว เงามัวเป็นส่วนที่จางมาก เรามักสังเกตไม่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงกับดวงจันทร์ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามัว ยกเว้นกรณีที่ดวงจันทร์อยู่ในเงาลึกมากพอ (โดยทั่วไปคือเวลาที่เงามัวกินพื้นที่มากกว่า 2 ใน 3 ของผิวด้านสว่างของดวงจันทร์)
หากดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืด เรียกว่าจันทรุปราคาเต็มดวง เฉลี่ยเกิดขึ้นประมาณ 70 ครั้งต่อศตวรรษ จันทรุปราคาหลายครั้งที่มีเพียงบางส่วนของดวงจันทร์เท่านั้นที่ผ่านเข้าไปในเงามืด เรียกว่าจันทรุปราคาบางส่วน เฉลี่ยเกิดขึ้นประมาณ 84 ครั้งต่อศตวรรษ (สถิติในช่วง 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 3000)
สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งบนพื้นโลกไม่สามารถสังเกตจันทรุปราคาได้ทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าขณะเกิดปรากฏการณ์เป็นเวลากลางคืนในท้องถิ่นนั้น ๆ หรือไม่ เพราะเมื่อเกิดจันทรุปราคาแล้ว เฉพาะซีกโลกด้านกลางคืนเท่านั้นที่สังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ แต่นั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีโอกาสเห็นจันทรุปราคาได้บ่อยกว่าสุริยุปราคา ซึ่งสำหรับสุริยุปราคา เขตที่มีโอกาสเห็นสุริยุปราคากินพื้นที่เพียงบางส่วนของผิวโลกเท่านั้น ไม่ใช่ซีกโลกด้านกลางวันทั้งหมด

ลำดับเหตุการณ์

จันทรุปราคาครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อดวงจันทร์สัมผัสเงามัวของโลกในเวลา 18:34 น. แต่จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ จนกระทั่งดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกมากพอ ราว 1 ทุ่มครึ่ง หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน อาจเริ่มสังเกตว่าพื้นผิวดวงจันทร์โดยรวมดูหมองคล้ำลงเล็กน้อย โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกของดวงจันทร์ ซึ่งก็คือด้านล่าง หรือด้านที่หันเข้าหาขอบฟ้า
จันทรุปราคาบางส่วนเริ่มขึ้นเวลา 19:46 น. เป็นจังหวะที่ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามืดของโลก ขอบด้านตะวันออกของดวงจันทร์จะเริ่มแหว่ง ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีมุมเงยสูงจากขอบฟ้าเกือบ 30° ดาวพฤหัสบดีอยู่สูงขึ้นไปเกือบถึงจุดเหนือศีรษะ ส่วนดาวศุกร์ใกล้จะตกลับขอบฟ้าหรือตกลับขอบฟ้าไปแล้วสำหรับบางพื้นที่
ดวงจันทร์จะเข้าไปในเงามืดลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ ถูกบังครึ่งดวงเมื่อใกล้เวลา 2 ทุ่มครึ่ง จากนั้นเริ่มบังหมดทั้งดวงในเวลา 21:06 น. นับเป็นเวลาที่เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
ดวงจันทร์ถูกเงาโลกบดบังทั้งดวง แต่เรายังสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้ โดยพื้นผิวดวงจันทร์อาจมีสีน้ำตาล สีส้ม หรือสีแดงอิฐ และอาจมีสีเหลืองหรือฟ้าปะปนอยู่ได้เล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะในบรรยากาศโลกตรงบริเวณรอยต่อระหว่างด้านกลางวันกับกลางคืนของโลก แสงอาทิตย์ที่หักเหและกระเจิงขณะเดินทางผ่านบรรยากาศโลก เป็นสาเหตุที่ทำให้ดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงไม่มืดสนิท
เวลา 21:32 น. ดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางเงาโลกมากที่สุด คาดหมายได้ว่าเป็นเวลาที่ดวงจันทร์มืดคล้ำที่สุด (หากท้องฟ้าเปิดตลอดปรากฏการณ์) โดยขอบด้านทิศเหนือ (ซ้ายมือ) น่าจะคล้ำกว่าด้านทิศใต้ เนื่องจากอยู่ใกล้ศูนย์กลางเงามากกว่า นอกจากนี้ พื้นที่ที่เรียกว่ามาเร (ทะเล) ซึ่งเป็นส่วนคล้ำบนดวงจันทร์ ก็อยู่ในบริเวณด้านทิศเหนือมากกว่าด้านทิศใต้
จันทรุปราคาเต็มดวงสิ้นสุดลงในเวลา 21:57 น. รวมเวลาที่ดวงจันทร์ทั้งดวงอยู่ในเงามืดของโลกนาน 51 นาที หลังจากนั้น ดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงามืด ใช้เวลาอีกเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง ดวงจันทร์จึงจะกลับมาเต็มดวงในเวลา 23:18 น. ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่สูงเกือบถึงจุดเหนือศีรษะ มองต่ำลงมาทางทิศตะวันตกจะเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ที่มุมเงยประมาณ 50°-60°
หลังสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 5 ทุ่มเศษ แม้ว่าดวงจันทร์จะเต็มดวง ไม่มีส่วนแหว่งเว้าแล้ว แต่ดวงจันทร์จะยังไม่สว่างเต็มที่ พื้นผิวของดวงจันทร์จะหมองคล้ำอยู่เล็กน้อยต่อไปอีกราวครึ่งชั่วโมง เพราะยังอยู่ในเงามัวของโลก หลังจากนั้นเราจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นกับดวงจันทร์อีก จันทรุปราคาครั้งนี้จะสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์เมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงออกจากเงามัวในเวลา 00:30 น.

เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์และแผนที่แสดงการเห็นจันทรุปราคาในส่วนต่าง ๆ ของโลก


ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 10 ธันวาคม 2554
เหตุการณ์เวลามุมเงย
ของดวงจันทร์

(ที่กรุงเทพฯ)
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก (ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง)18:34 น.11°
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์เริ่มแหว่ง)19:46 น.27°
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง)21:06 น.45°
4. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ (ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด)21:32 น.51°
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืด)21:57 น.56°
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์ทั้งดวงออกจากเงามืด)23:18 น.74°
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก00:30 น.81°

ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง

ช่วงที่เกิดจันทรุปราคาในคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2554 ดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาววัว บริเวณรอบ ๆ มีดาวฤกษ์สว่างอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากสามเหลี่ยมฤดูหนาว (Winter triangle) ซึ่งประกอบด้วยดาวซิริอัสในกลุ่มดาวหมาใหญ่ ดาวโพรซิออนในกลุ่มดาวหมาเล็ก และดาวเบเทลจุสในกลุ่มดาวนายพราน ยังมีดาว 6 ดวง เรียงกันเป็นหกเหลี่ยมที่เรียกว่าหกเหลี่ยมฤดูหนาว (Winter Hexagon) ได้แก่ ดาวซิริอัสในกลุ่มดาวหมาใหญ่ ดาวโพรซิออนในกลุ่มดาวหมาเล็ก ดาวพอลลักซ์ในกลุ่มดาวคนคู่ ดาวคาเพลลาในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ ดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัว และดาวไรเจลในกลุ่มดาวนายพราน (วนตามเข็มนาฬิกา) ดวงจันทร์อยู่ในหกเหลี่ยมนี้ โดยค่อนไปทางดาวอัลเดบารัน สูงขึ้นไปจะเห็นกระจุกดาวลูกไก่อยู่ห่างดวงจันทร์เกือบ 20°

สีและความสว่างของดวงจันทร์

สีและความสว่างของดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับศูนย์กลางเงา ปริมาณเมฆและฝุ่นละอองในบรรยากาศโลกตรงบริเวณรอยต่อระหว่างด้านกลางวันกับด้านกลางคืนของโลก
เราสามารถบอกความสว่างและสีของดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงได้ด้วยมาตราดังชง (Danjon scale) โดยทำการสังเกตดวงจันทร์ด้วยตาเปล่า มาตรานี้ตั้งชื่อตาม อองเดร ดังชง (André-Louis Danjon) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่เป็นผู้ริเริ่ม เรียกย่อ ๆ ว่าค่าแอล (L) มีค่าจาก 0 ถึง 4 ดังตาราง โดยสามารถประมาณค่าเป็นทศนิยมได้

  L  ความสว่างและสีของดวงจันทร์
0ดวงจันทร์มืดมาก เกือบมองไม่เห็น
1ดวงจันทร์มืด มีสีเทาหรือน้ำตาล มองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวได้ยาก
2ดวงจันทร์มีสีแดงเข้ม หรือสีสนิมเหล็ก บริเวณใกล้ใจกลางมืดมาก แต่ขอบดวงจันทร์สว่าง
3ดวงจันทร์มีสีแดงอิฐ ขอบเงามืดมีสีเหลืองหรือสว่าง
4ดวงจันทร์มีสีทองแดงหรือสีส้ม ดวงจันทร์สว่างมาก ขอบเงามืดมีสีฟ้าและสว่างมาก

ถ้าจะให้ได้ข้อมูลละเอียดที่สุด อาจทำการประมาณค่าแอลทุก ๆ 10-20 นาที นับตั้งแต่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง ทั้งนี้การประมาณค่าแอลมีโอกาสผิดพลาดได้ หากขณะนั้นมีเมฆหรือหมอกควันบดบังดวงจันทร์ ซึ่งจะทำให้ดวงจันทร์ดูมืดสลัวกว่าความเป็นจริง

จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 อาจมีลักษณะคล้ายจันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 (ในภาพ) เนื่องจากมีเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์เทียบกับเงาอยู่ในรูปแบบใกล้เคียงกัน (ภาพ – ประพีร์ วิราพร/กฤษดา โชคสินอนันต์/ปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช/พรชัย อมรศรีจิรทร)

จันทรุปราคาครั้งถัดไป

จันทรุปราคาครั้งถัดไปสำหรับประเทศไทยเป็นจันทรุปราคาบางส่วน 2 ครั้ง (ไม่นับจันทรุปราคาเงามัวซึ่งสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ได้ยาก) ได้แก่ คืนวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2555 และเช้ามืดวันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2556
เราไม่ควรพลาดจันทรุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ เพราะทั่วโลกจะไม่มีโอกาสเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงอีกเลยจนกระทั่ง พ.ศ. 2557 ปีนั้นและปีถัดไปจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงรวม 4 ครั้งติดต่อกัน เห็นได้ในประเทศไทย 2 ครั้ง ได้แก่ วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2557 (ตรงกับวันออกพรรษา) แต่ช่วงบังหมดดวงอาจสังเกตได้ยากเนื่องจากดวงจันทร์ยังอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า และท้องฟ้ายังไม่มืด อีกครั้งในค่ำวันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น