วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตามไปดูตัวอย่างข้อสอบ ?โอเน็ต? ที่เด็ก "มึน" ผู้ปกครอง "งง" !!




ข้อสอบ "โอเน็ต" ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา สร้างความฉงนสงสัยให้กับเด็กระดับ ม.6 ที่เข้าสอบ หรือแม้กระทั่งผู้คนทั่วไปที่ได้รับรู้อยู่ไม่น้อย กระทั่งมีการตั้งกระทู้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ในอินเตอร์เน็ต ให้รุ่นพี่ รุ่นน้องมาช่วยกันหาคำตอบ ช่วยกันวิเคราะห์ว่าคำตอบใดกันแน่ที่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง ทีมข่าว "มติชน" ลองสอบถามไปยังนักวิชาการด้านการศึกษา ให้แสดงทรรศนะถึงข้อสอบที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้

"รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ข้อสอบปีสองปีที่ผ่านมา ลักษณะของข้อสอบยังคงยากอยู่  แต่วิธีการตอบหรือเทคนิคง่ายขึ้น เมื่อก่อนจะยากทั้งตัวเนื้อหาและเทคนิค แต่ปีนี้อยู่ที่ตัวเนื้อหาอย่างเดียว เรื่องเทคนิคก็จะเป็น 5 ตัวเลือก แล้วก็ลักษณะของข้อสอบการโยงเรื่องการวิเคราะห์อะไรไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน นี่เป็นประเด็นที่หนึ่งที่เห็น 

ต่อมาคือลักษณะของการออกข้อสอบ ค่อนข้างเห็นความแตกต่างระหว่างเด็กในเมืองและเด็กในชนบท ถ้าเด็กในเมืองโอกาสการติดตามข้อมูลข่าวสารหรือการเข้าถึงจะดีกว่าเด็กในต่างจังหวัด หากสังเกตดูจะพบว่า ข้อสอบส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ เรื่องของระบบข้อมูลข่าวสารต่างๆ กลุ่มผู้ออกข้อสอบส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยกับอาจารย์โรงเรียนสาธิตต่างๆ มีบางส่วนที่มาจาก สพฐ. ฉะนั้นข้อสอบจึงมีลักษณะค่อนข้างไม่ยุติธรรมในเชิงของภูมิภาค

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเห็นอย่างไรกับข้อสอบที่ถามว่า "ถ้าจะปลูกฝังความเป็นไทยต้องให้ดูละครเรื่องอะไร"

รศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า การออกข้อสอบในลักษณะนี้ต้องใช้ความระมัดระวัง

เพราะเราบอกว่าไม่ส่งเสริมให้เด็กดูละคร แต่หากไม่ดูเด็กก็จะไม่สามารถวิเคราะห์ข้อสอบข้อนี้ได้ ซึ่งข้อสอบในลักษณะนี้เป็นเรื่องของการคิดวิเคราะห์ 

เวลาที่เด็กคิดหาคำตอบจะมีความแตกต่างกันเรื่องของฐานข้อมูลกับเรื่องราวที่ใช้ในการตัดสินใจตอบ ข้อสอบแบบนี้จะวัดได้ยาก เพราะเด็กจะต้องดูละครทั้ง 5 เรื่อง จึงจะนำความรู้ในนั้นมาตอบข้อสอบ ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไรที่เด็กทุกคนจะดูครบทุกเรื่อง

ด้านผู้ปกครอง "มติชน" นำข้อสอบที่เพิ่งมีการสอบในปีนี้ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นมาให้ลองตอบ พร้อมทั้งขอเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกคำตอบนี้

"วิเชษฐ ดีประดิษฐ" ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนหอวัง ได้รับคำถามว่า "ถ้าจะปลูกฝังความเป็นไทยต้องให้ดูละครเรื่องอะไร?" โดยมีตัวเลือกคือ 1.ขุนศึก 2.สี่แผ่นดิน 3.ดอกส้มสีทอง 4.แรงเงา และ 5.กี่เพ้า

ผู้ปกครองคนนี้เลือกตอบข้อ 2.สี่แผ่นดิน โดยให้เหตุผลว่า เรื่องราวของสี่แผ่นดินเป็นการถ่ายทอด การนำเสนอภาพของประเทศในแต่ละยุคสมัย โดยสอดแทรกเรื่องวัฒนธรรมประเพณีเข้าไปตลอดทั้งเรื่อง ทำให้คนดูซึมซับว่าประเพณีไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ซึ่งข้ออื่นๆ อย่างขุนศึก เป็นเนื้อหาละครที่เน้นเรื่องความรักชาติ ซึ่งถือว่ามีแง่มุมของความเป็นไทยน้อยกว่า ขณะที่ตัวเลือกอื่นๆ ที่เหลือขอตัดออกไปเลย

หลังจากลองทำข้อสอบ "วิเชษฐ" ให้ความคิดเห็นว่า ความคิดการวิเคราะห์ของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ถ้ามีเจตนาให้เด็กคิดก็ควรจะมีคำตอบมากกว่า 1 ข้อ

"การที่ให้ผู้ใหญ่มาออกข้อสอบก็เลยเป็นความคิดของผู้ใหญ่ซะมาก ลักษณะการทำข้อสอบเชิงวิเคราะห์แบบนี้ ผมอยากจะให้ได้คะแนนให้ทุกข้อที่ตอบถูก เพราะถูกหลายข้อแล้วแต่คนวิเคราะห์คืออาจจะถูกมากกว่า 1 ในเมื่อเราต้องการให้เด็กวิเคราะห์แสดงทรรศนะ ฉะนั้นคำตอบไม่น่าจะมีข้อที่ถูกเพียงแค่ 1 เราต้องฟังทรรศนะเขาด้วย" วิเชษฐกล่าว

อีกคนหนึ่ง สวนกลับในทันทีหลังจากเห็นโจทย์

"ข้อสอบข้อนี้ออกมาได้ไง ตอบไม่ได้หรอกแล้วจะรู้ได้อย่างไร ใครวิจารณ์อะไร" "อรุณ บ่างตระกูลนนท์" นายกสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กล่าว หลังจากได้ฟังข้อสอบวิชาศิลปะ ที่ถามว่า "ใครคือผู้วิจารณ์อย่างสุนทรีย์?"

และก็เลี่ยงที่จะตอบข้อนี้

ก่อนที่จะได้รับอีกหนึ่งคำถามจากวิชาสุขศึกษา ว่า "สถานการณ์ใดเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยมากที่สุด?" มีตัวเลือกคือ 1.ฉลองวันเกิดที่ผับชื่อดัง 2.ขับรถกลับบ้านขณะมึนเมา 3.คบเพื่อนที่ชอบซิ่งรถจักรยานยนต์ 4.พนักงานมักพูดคุยขณะเติมน้ำมันให้ลูกค้า 5.คาดเข็มขัดนิรภัยทันที เมื่อเห็นตำรวจจราจร

อรุณ ตอบว่า ก่อนอื่นขอตัดคำตอบข้อที่ 3 ออกก่อนเพราะเราอาจจะแค่คบเพื่อนแต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำตามเพื่อน ขณะที่ข้อที่ 1.ฉลองวันเกิดที่ผับชื่อดัง ก็ไม่จำเป็นต้องอันตราย ตัวเลือกที่ 4 พนักงานมักพูดคุยขณะเติมน้ำมันให้ลูกค้า ก็ไม่ใช่ยิ่งข้อ 5 ตัดไปได้เลย ฉะนั้นขอตอบข้อ 2 ที่บอกว่า ขับรถกลับบ้านขณะมึนเมา เพราะมีความอันตรายแบบชัดเจนเลย

ผู้ปกครองรายนี้มีข้อเสนอแนะถึงผู้ออกข้อสอบว่า ควรจะมีคณะกรรมการที่เข้ามาศึกษาเรื่องการออกข้อสอบ รวมทั้งปรึกษากันเพื่อออกข้อสอบให้มีความชัดเจนและเหมาะสม อีกทั้งคนที่ออกข้อสอบควรเป็นคนที่สอนหนังสือและคลุกคลีกับนักเรียนอยู่ในปัจจุบัน

ในขณะที่ "อุทุมพร จามรมาน" อดีตผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มองว่า ตามหลักการออกข้อสอบจะต้องยึดตามหลักสูตรการเรียนรู้ และจะต้องออกให้ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ หลักการออกข้อสอบแบบวัดความคิดเห็น จะไม่มีการให้คะแนนแบบถูกผิด แต่จะต้องมีการเฉลี่ยคะแนนแต่ละข้อ ซึ่งจะมีข้อหนึ่งที่ได้คะแนนมากที่สุด ส่วนข้อสอบแบบวัดความรู้ และการคิดวิเคราะห์ จะมีคำตอบถูก ผิด ชัดเจน และสามารถอธิบายตามหลักวิชาการได้

"กาญจนา นาคสกุล" ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย อดีตประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัจจุบันการออกข้อสอบอาจจะยังไม่มีความชัดเจนในบางส่วน

รวมถึงการออกข้อสอบเน้นความรู้เฉพาะเจาะจงมากเกินไป จนเด็กไม่สามารถตอบคำถามได้ อย่างเช่น ข้อสอบที่ถามเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางในกรุงเทพฯ หรือว่าความรู้ที่รู้เฉพาะคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แต่เด็กต่างจังหวัดไม่สามารถตอบได้

ปัจจุบันการออกข้อสอบยังมีหลายข้อใช้ภาษาและคำถามไม่ชัดเจน จึงทำให้นักเรียนหลายคนเกิดความรู้สึกว่าคำตอบถูกทุกข้อ

การออกข้อสอบควรเน้นความเป็นธรรมกับนักเรียนทุกคน ต้องเป็นความรู้ได้จากตำราเรียน และความรู้ที่เด็กจะได้จากการเรียนแต่ละวิชา แต่ถ้าเป็นความรู้ทั่วไป ก็ต้องเป็นความรู้ที่นักเรียนทั้งประเทศที่รู้ และสามารถตอบได้ 

แต่ในปัจจุบันการออกข้อสอบเน้นถามเรื่องที่ครูรู้ แต่เด็กไม่รู้ และครูออกข้อสอบซับซ้อนมากเกินไปจนเด็กตอบไม่ได้

และนี่คืออีกเสียงสะท้อนต่อการสอบโอเน็ตของเด็กไทย


หน้า 9 มติชนรายวันฉบับวันที่ 16 ก.พ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น